top of page

เอชไอวีคืออะไร?

เอช ไอ วีย่อมาจาก “Human Immunodeficiency Virus”

คำว่า “ภูมิคุ้มกันบกพร่อง” หมายความว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและทำให้ร่างกายอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายของคนเราสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อต่างๆได้ ดังนั้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงเรื่อยๆ ในที่สุดทำให้ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอช ไอ วีจะไม่สามารถต่อต้านการติดเชื้ออื่นๆได้ เช่น วัณโรคและมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น เราจึงเรียกระยะนี้ว่าเอดส์ ซึ่งหมายถึง “ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อผู้ที่ติดเชื้อเอช ไอ วีไม่ได้รับการักษาที่เหมาะสมเท่านั้น ปัจจุบันผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอช ไอ วีแต่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมสามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป และไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ

 

จะเกิดอะไรขึ้นหากติดเชื้อเอช ไอ วี?

หลังจากการติดเชื้อแล้ว เชื้อไวรัสจะแบ่งตัวซึ่งส่วนใหญ่จะแบ่งตัวในเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งเรียกว่าเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ชนิดซีดี4 (lymphocytes CD4) ซึ่งระยะนี้จะเกิดขึ้นภายในสองถึงสามสัปดาห์หลังจากการติดเชื้อ บางรายอาจมีอาการไม่ค่อยสบายเหมือนอาการเป็นไข้หวัด (เบื่ออาหาร มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ฯลฯ) และมีผื่น เจ็บคอ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ หลังจากช่วงเวลานี้ อาจมีอาการแสดงไม่มากหรือไม่มีอาการเลยเป็นเวลาหลายเดือนหรือเป็นปี แต่เชื้อไวรัสทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้ออื่นๆ ที่รุนแรงและโรคมะเร็ง

ปัจจุบันมีวิธีการตรวจที่ง่ายที่จะทราบว่าบุคคลนั้นติดเชื้อเอช ไอ วีหรือไม่ ซึ่งหากบุคคลนั้นได้รับการวินิจฉัยเร็วขึ้น ก็สามารถเริ่มรับการรักษาได้เร็วขึ้นด้วย และโอกาสเจ็บป่วยก็จะน้อยลง

 

การแพร่เชื้อเอช ไอ วี

การแพร่เชื้อไวรัสสามารถเกิดขึ้นได้ 3 ทาง ได้แก่:

  • การแพร่เชื้อทางเพศสัมพันธ์ (ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก) โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย

  • การแพร่เชื้อจากมารดาสู่ทารก: จากมารดาที่ติดเชื้อสู่ทารกในขณะที่มารดาตั้งครรภ์ ขณะคลอดและการให้นมทารก

  • การแพร่เชื้อทางเลือดผ่านเลือดที่มีเชื้อปนเปื้อน (เช่น การใช้กระบอกฉีดยาหรือเข็มที่ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอช ไอ วีได้ใช้แล้ว, การใช้อุปกรณ์ศัลยกรรมที่ไม่ได้รับการฆ่าเชื้อ, การได้รับเลือดที่มีเชื้อปนเปื้อน)

 

การคัดกรองและการวินิจฉัย

มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่จะทราบว่าบุคคลนั้นติดเชื้อหรือไม่คือการตรวจหาเชื้อ ซึ่งปัจจุบันนี้มีการตรวจหาการติดเชื้ออย่างแพร่หลายและราคาถูกที่สามารถรับบริการได้ในโรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการต่างๆ ในประเทศไทย และในบางองค์กรที่ตั้งอยู่ในชุมชนต่างๆ อีกทั้งร้านขายยาบางแห่งมีการจำหน่ายชุดตรวจหาการติดเชื้อเอช ไอ วีด้วยตนเอง

บุคคลที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพในระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถเข้ารับการตรวจหาการติดเชื้อเอช ไอ วีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ได้ปีละ 2 ครั้งในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ที่ตนเองได้ลงทะเบียนไว้

ส่วนใหญ่การตรวจหาการติดเชื้อเอช ไอ วี ใช้หลักการตรวจหาภูมิต้านทาน (antibody) ที่ต้านการติดเชื้อเอช ไอ วีโดยตรง การตรวจจะให้ผลเป็นบวกหากตรวจพบภูมิต้านทานที่ต้านการติดเชื้อเอช ไอ วีและจะให้ผลเป็นลบหากตรวจไม่พบภูมิต้านทาน อย่างไรก็ตามหลังจากที่ติดเชื้อ ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ในการสร้างภูมิต้านทานในเลือด การตรวจหาภูมิต้านทานอาจไม่มีความไวพอที่จะตรวจพบเชื้อได้ในช่วงเวลานี้ ซึ่งเรียกว่าระยะแฝง (window period) และการตรวจในช่วงเวลานี้อาจได้ผลเป็นลบในกรณีที่ได้รับเชื้อมาเมื่อไม่นานมานี้ และในกรณีที่ได้สัมผัสเชื้อเอช ไอ วีมาเมื่อไม่นานมานี้ แนะนำให้ตรวจซ้ำภายใน 2-3 สัปดาห์โดยไม่มีการสัมผัสเชื้อใหม่เพิ่มเพื่อยืนยันผลการตรวจ

 

การป้องกัน

1. การป้องกันการได้รับเชื้อเอช ไอ วี (สำหรับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ)

มีวิธีการป้องกันการติดเชื้อเอช ไอ วีหลายวิธีและสามารถนำมาใช้ป้องกันร่วมกันได้ดังต่อไปนี้:

  • ใช้ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชายหรือถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงซึ่งถุงยางอนามัยสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆได้ด้วย

  • การใช้เข็มฉีดยาและกระบอกฉีดยาแบบใช้แล้วทิ้งซึ่งไม่เคยถูกใช้โดยผู้อื่นและไม่ใช้เข็มฉีดยานี้ร่วมกับผู้อื่นหลังจากผู้อื่นได้ใช้เข็มฉีดยาแล้ว

  • การรับประทานยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอช ไอ วีก่อนการสัมผัสเชื้อ (ยาเพร็พ): การใช้ยานี้จำเพาะในผู้ที่ไม่ติดเชื้อเอช ไอ วีที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

  • การรับประทานยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอช ไอ วีหลังการสัมผัสเชื้อ (ยาเป็ป): การใช้ยานี้จำเพาะโดยเร็วที่สุดและอย่างช้าที่สุดภายในเวลา 72 ชั่วโมงหลังการสัมผัสเชื้อเอช ไอ วีเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

  • การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายโดยสมัครใจ: ผู้ชายที่ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศมีความเสี่ยงต่ำในการติดเชื้อเอช ไอ วี

 

2. การป้องกันการแพร่เชื้อเอช ไอ วีไปยังผู้อื่น (สำหรับผู้ติดเชื้อ)

  • การใช้ถุงยางอนามัย

  • การรักษาเอช ไอ วีอย่างมีประสิทธิภาพ (โดยการใช้ยาต้านไวรัส): ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่นนั้นแทบจะไม่มีเลย เมื่อมีการกดการเพิ่มปริมาณเชื้อไวรัสอย่างมีประสิทธิผล และเพื่อตรวจสอบว่าการรักษาเกิดประสิทธิผล (สามารถกดการเพิ่มปริมาณเชื้อไวรัสได้) การตรวจปริมาณเชื้อไวรัสในเลือดต้องมีผลตรวจเป็น “ตรวจไม่พบ” (น้อยกว่าเกณฑ์ของปริมาณเชื้อไวร้สที่สามารถตรวจพบได้)

  • สำหรับการป้องกันการแพร่เชื้อจากมารดาสู่ทารก ได้ใช้วิธีการจำเพาะโดยการให้ยาต้านไวรัสแก่มารดาและทารกแรกเกิดซึ่งมีอยู่ในแผนกคลอดบุตรทุกแห่งในประเทศไทย

 

การรักษา

การให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสในปัจจุบันสามารถกดการเพิ่มจำนวนปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกายได้ และช่วยป้องกันการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อเอช ไอ วีที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ

การให้การรักษายาต้านไวรัสสูตรรวมซึ่งประกอบไปด้วยยาต้านไวรัสหลายชนิด ซึ่งโดยปกติเป็นรูปแบบยาสูตรรวมในเม็ดเดียวซึ่งให้รับประทานหนึ่งครั้งหรือสองครั้งต่อวัน อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกายได้ทั้งหมดและสามารถรักษาการติดเชื้อเอช ไอ วีให้หายขาดได้

bottom of page